นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ได้มีนโยบายทำวาระแห่งชาติและแผนแม่บทประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) พร้อมทั้งให้ทุกกระทรวงเร่งจัดทำแผนรายละเอียดมานำเสนอภายในไม่เกินสิ้นปีนี้ โดยยึดกรอบเออีซีทั้ง 3 เสาหลัก ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ ความมั่นคง และวัฒนธรรม
เร่งไทยชิงลงทุน 9 สาขา
ขณะเดียวกัน ทางมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยกับธนาคารทีเอ็มบีร่วมมือกันระดมนักวิชาการรวบรวมผลการศึกษาศักยภาพของแต่ละประเทศที่เอกชนไทยควรจะเข้าไปพัฒนาธุรกิจ 3 ประเทศ ได้แก่ พม่า เวียดนาม อินโดนีเซีย การลงทุนในอุตสาหกรรมซึ่งเป็นโอกาสทองของไทย 9 สาขา ประกอบด้วย อาหาร เกษตรแปรรูป สิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องใช้ไฟฟ้า ชิ้นส่วนยานยนต์ ก่อสร้าง ความงามและสปา ท่องเที่ยวและธุรกิจต่อเนื่อง ร้านอาหารไทย โดยจะต้องศึกษารายละเอียดกฎหมายอย่างรอบคอบด้วย ส่วนก่อนและหลังเปิดเออีซี สมาชิกอาเซียน 10 ประเทศจะมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจซึ่งวัดจากผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด โดยไทยจะขยายคงที่เฉลี่ยปีละ 4.5-5% อินโดนีเซีย พม่า กัมพูชาจะขยายสูงสุดจาก 6% เป็น 7-8%
พม่า-อินโดฯมาแรง
นายอัทธ์ พิศาลวานิช คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า พม่าเหมาะขยายฐานการผลิตในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานจำนวนมาก เช่น สิ่งทอ อาหารแปรรูป เกษตรกรรม เพราะมีทรัพยากรมหาศาล แรงงานจำนวนมาก ค่าแรงต่ำ ผู้ประกอบการต้องไปฝึกทักษะแรงงาน พัฒนาสินค้าคุณภาพ หาแหล่งเงินทุน และปรับปรุงเทคโนโลยี และควรใช้แนวทางหาพันธมิตรท้องถิ่นส่งสินค้าไปทดลองตลาดก่อนตั้งโรงงาน อุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่มีโอกาส ได้แก่ อุตสาหกรรมก่อสร้าง เครื่องจักรกล เกษตรกรรม และชิ้นส่วนยานยนต์ ด้านอุตสาหกรรมอาหารสามารถเจาะตลาดพม่าได้เฉพาะชา กาแฟ ไอศกรีม ส่วนอาหารฟาสต์ฟู้ด หรืออาหารสมัยใหม่อื่น ๆ ยังขายไม่ได้ เพราะชาวพม่านิยมอาหารปิ่นโต
อุปสรรคในการลงทุนได้แก่ 1.การระงับการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปเป็นเพียงมาตรการชั่วคราว 2.โครงสร้างพื้นฐานยังไม่พร้อม ทั้งไฟฟ้า ปั๊มน้ำมัน เครือข่ายโทรศัพท์ และอินเทอร์เน็ต และ 3.พม่าถูกขึ้นบัญชีดำเรื่องการฟอกเงินจาก FATF ส่วนการเมืองถือว่าวางใจได้ในระดับหนึ่งว่าการปฏิวัติจะน้อยลง
ส่วนอินโดนีเซีย ไทยมีโอกาสลงทุนด้านก่อสร้าง เพราะอีก 5-10 ปีข้างหน้า อินโดนีเซียจะลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน เน้นขนส่งทางน้ำและถนนมากขึ้น มูลค่าการลงทุน 59,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งรวมถึงโครงการสร้างสะพานแขวนที่ใหญ่และยาวที่สุดในโลก ชื่อ Sunda Strait Bridge Project เพื่อเชื่อมระหว่างเกาะสุมาตราและเกาะชวา สะพานประกอบด้วยถนน 6 เลน รางรถไฟ และท่อส่งก๊าซ รถยนต์ใช้เวลาเดินทาง 60 นาที ขณะที่ความเสี่ยงในอินโดนีเซียคือภัยธรรมชาติ มีน้ำท่วมและแผ่นดินไหวประมาณ 3 ครั้ง/ปี สินค้าอาหารก็ต้องได้รับเครื่องหมายฮาลาล
นางวิจิตรา ล.เฉลิมชัยชนะ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า อุตสาหกรรมที่นักลงทุนไทยควรลงทุนในเวียดนาม ได้แก่ ผลิตภัณฑ์อาหาร อาหารแปรรูป เกษตรแปรรูป สิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องใช้ไฟฟ้า ร้านอาหาร ร้านกาแฟ
และเบเกอรี่ ธุรกิจเสริมความงามและสปา การท่องเที่ยวและธุรกิจต่อเนื่อง ซึ่งผู้ประกอบการไทยควรหาพันธมิตรท้องถิ่นมาดูแลเรื่องกฎระเบียบซึ่งไม่แน่นอน โดยเฉพาะเรื่องที่ดินราคาแพง และศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคที่แตกต่างกันตามภาคเป็นอย่างดี ด้านโครงสร้างพื้นฐานของเวียดนามยังไม่ดีนัก โดยเฉพาะไฟฟ้า การตั้งโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมจึงปลอดภัยที่สุด
เบอร์ลี่ฯแนะเคล็ดลับลงทุน
นายอัศวิน เตชะเจริญวิกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือบีเจซี กล่าวว่า การลงทุนในอาเซียนต้องพิจรณาหลายปัจจัย ได้แก่ ความพร้อมของตลาด กฎหมาย คู่แข่งระดับท้องถิ่นและระดับโลก และความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานในประเทศนั้น ๆ อย่างกัมพูชา และ สปป.ลาว ควรส่งสินค้าไปขายมากกว่าตั้งโรงงาน เพราะคมนาคมยังไม่ดี ตลาดเล็ก แต่คุ้นเคยกับสินค้า จึงตอบรับเป็นอย่างดี การลงทุนตั้งร้านอาหารและค้าปลีกไปได้ดี
ส่วนพม่าควรนำสินค้าเข้าไปขายก่อนจึงตัดสินใจตั้งโรงงาน แล้วจึงค่อยหาจังหวะลงทุน เพราะตัวบทกฎหมายกับแนวทางปฏิบัติอาจไม่ตรงกัน อุปสรรคสำคัญก็มีโครงสร้างพื้นฐาน ไฟฟ้าไม่สม่ำเสมอ ไม่สามารถใช้โทรศัพท์ข้ามประเทศได้ ค่าโทรศัพท์มีราคาแพง ขาดแคลนแรงงานฝีมือภาคอุตสาหกรรม เพราะชาวพม่าส่วนใหญ่คุ้นเคยกับเกษตรกรรม
ขณะที่เวียดนามเหมาะลงทุนด้านค้าปลีกและกระจายสินค้า ด้วยตลาดที่กว้าง เพราะประชากรกว่าครึ่งเป็นวัยทำงาน Genation Y นิยมสินค้ามีรสนิยม อุปสรรคคือที่ดินแพงมาก กฎหมายไม่พร้อมหลายเรื่อง แต่ก็ยังเปิดโอกาสให้ลงทุน มีท่าเรือน้ำลึก นิคมอุตสาหกรรม ส่วนวัฒนธรรมการทำงาน คนเวียดนามจะเปลี่ยนงานบ่อย และไม่ฟังคนชาติอื่น เพราะเชื่อในศักดิ์ศรีของชาติตัวเอง ในอนาคตคาดว่าเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศ CLMV จะดำเนินรอยตามประเทศไทย
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ
อ่านต่อ: http://www.thai-aec.com/405#ixzz2prwxCEJW